อาการหูตึง รักษา แก้ไขได้หรือไม่

หูตึง

อาการหูตึง คือ เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหาทางการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยอาจจะเกิดขึ้นช้า ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากหลากหลายสาเหตุ เช่น อายุมากขึ้น มีภาวะที่ส่งผลกระทบต่อหู หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ได้ยินเสียงที่ดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอลฮอล์ เป็นต้น ซึ่งอาการหูตึงสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการแคะหูหรือหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีเสียงดัง แต่หากภาวะดังกล่าวเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่สามารถป้องกันและรักษาอาการให้หายขาดได้ แต่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังหรือเข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยให้กลับมาได้ยินเสียงชัดเจนอีกครั้ง

     ปัญหาหูตึง ย่อมส่งผลต่อการพูดคุยและการสื่อความหมาย รวมไปถึงผลกระทบทางสังคมกับคนรอบข้าง ซึ่งอาการหูตึงชั่วคราวมักเกิดภายหลังจากที่ไปได้ยินเสียงดัง ๆ ในช่วงไม่นานนัก ส่วนหูตึงแบบถาวรมักพบในพวกที่ได้รับเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เช่นพวกที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา เสียงที่ดังนี้นอกจากจะมีผลต่อการได้ยินแล้ว ยังมีผลต่อร่างกายอีกหลายด้านเช่น อาจรบกวนการนอน รบกวนประสิทธิภาพในการทำงาน รบกวนการสื่อสารติดต่อทำให้อารมณ์ตึงเครียด หงุดหงิด และอารมณ์เสียได้ง่าย

     อาการ หูตึง ในวัยผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน เพราะคนเรามีอายุยืนขึ้น จึงควรนำผู้ป่วยมารับการตรวจวัดระดับการได้ยินก่อนว่าหูตึงมากน้อยเพียงใด เพราะผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าสาเหตุของหูตึงหรือประสาทหูเสียนั้นมีมากมายหลายอย่าง และบางอย่างก็อาจรักษาให้หายได้ด้วยยาหรือการผ่าตัด และแม้ว่าบางโรคอาจทำให้มีการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง การใช้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจวัดระดับการสูญเสียการได้ยินเพื่อดูว่าจะได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟังได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารพูดคุยกับผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องพูดช้าๆ และชัดเจน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ

     หูชั้นนอกจะเริ่มตั้งแต่ใบหู รูหู รวมไปถึงแก้วหู การอักเสบของหูชั้นนอกที่พบบ่อย คือการอักเสบของรูหูซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียหรือผื่นแพ้ โดยส่วนใหญ่มักเริ่มจากมีความชื้น เช่น น้ำเข้าหูและค้างอยู่ในหูทำให้มีโอกาสที่เชื้อราหรือแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีก่อให้เกิดอาการอักเสบในรูหู การแคะหูทำให้มีแผลถลอกของรูหูและการติดเชื้อตามมาได้อาการของหูชั้นนอกอักเสบมักเกิดภายหลังว่ายน้ำหรือแคะหูโดยผู้ป่วยจะมักมีอาการปวดหู หูเป็นน้ำเยิ้ม คล้ายหูแฉะ เป็นอาการหลักบางรายมีอาการบวมแดงของรูหูและใบหู ซึ่งจะมีอาการหูอื้อตามมาโดยเฉพาะในรายที่มีเชื้อราหรือขี้หูมาก อาจทำให้รูหูอุดตัน ได้ยินไม่ชัด ดังนั้นสำหรับการรักษาส่วนใหญ่จะให้การรักษาตามสาเหตุการทำความสะอาดหู ดูดหนองหรือขี้หูออก แล้วเช็ดด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาเพิ่มความเป็นกรดในรูหูจะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น

     หูชั้นกลางจะเป็นโพรงอากาศเล็ก ๆ อยู่ระหว่างแก้วหูและหูชั้นใน โดยภายในหูชั้นกลางจะมีกระดูกฆ้อน ทั่ง โกลนมาต่อเชื่อมกันเพื่อนำเสียงเข้าสู่หูชั้นใน การอักเสบของหูชั้นกลางเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งมักจะเป็นผลจากการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบนแล้วลามมายังหูการสังเกตหรือคอยติดตามดูอาการ โดยคนไข้มักจะบ่นปวดหู หูอื้อ มีไข้ขึ้น การรักษาส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะกรณีที่อาการปวดมีมากภายหลังการให้ยา แพทย์อาจพิจารณาเจาะแก้วหูเป็นรูเล็กๆ เพื่อระบายหนองออกและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สาเหตุหูอื้อ หรือ หูตึงในผู้สูงอายุ?

1. ความผิดปกติแต่กำเนิดจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์
2. การเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของอวัยวะ เช่น วัยผู้สูงอายุ
3. โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
4. การประกอบอาชีพ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง
5. การได้รับยาบางตัวที่ก่อให้เกิดพิษต่อประสาทหู

วิธีสังเกตอาการหูตึง ?

หากไม่มั่นใจว่าหูตึง สามารถสังเกตอาการง่ายๆ ได้ดังนี้
1. มักได้ยินคำเตือนว่าพูดเสียงดังมากเกินไป
2. ทำหน้าไม่เข้าใจหรือแสดงอาการว่าไม่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง
3. มีอาการได้ยินไม่ชัด ได้ยินไม่ครบประโยค
4. เปิดเสียงวิทยุหรือโทรทัศน์เสียงดัง หรือคุยโทรศัพท์เสียงดังกว่าปกติ

เมื่อไม่ได้ยินสามารถ รักษา , แก้ไข ได้หรือไม่ ?

หากรู้สึกว่าตัวเองมีอาการ หูตึง ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการได้ยิน ทั้งนี้อาการหูตึงสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาหรือผ่าตัด มากกว่านั้นหากไม่สามารถรักษาให้หายได้ อาจจำเป็นต้องใส่ เครื่องช่วยฟัง เพื่อช่วยรับฟังเสียง ซึ่งไม่ควรด่วนตัดสินใจซื้อเครื่องช่วยฟังจากดูโฆษณาตามสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่หรือบางรายซื้อมาแล้วก็ไม่ได้ใช้ หรือตัวเครื่องช่วยฟังไม่ได้รับมาตรฐาน คนไข้หรือญาติผู้ป่วยจึงควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ช่องทางการติดต่อ